ถ้าพูดถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์สุดฮิตในบ้านเราคงหนีไม่พ้น Hi5 (ที่ใครบางคนอาจเรียกมันว่า ฮิห้า) ที่รองๆ ลงไปก็อย่าง Facebook หรือ MySpace


พื้นที่เหล่านี้อำนวยให้ผู้ใช้สามารถแสดงความเป็นตัวเอง ได้อย่างเสรี ทั้งประวัติส่วนตัวอย่าง วันเกิด ที่อยู่ ที่ทำงาน เมล์ติดต่อ กระทั่งความสนใจ รูปถ่าย วีดีโอ รวมไปถึงเพื่อนฝูง คนรอบกายของเรา จุดขายของเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ ก็คือ การติดต่อเชื่อมโยงที่ไร้พรมแดน ไม่ว่าจะค้นหาเพื่อนเก่า หรือพบปะเพื่อนใหม่ อัพเดตข่าวสารระหว่างกัน ล้วนสะดวกดาย

แต่จุดขายก็กลายมาเป็นจุดอ่อน เมื่อสังคมออนไลน์นั้นเปิดกว้าง ทั้งสำหรับคนดี และคนไม่ดี ที่มักจ้องแต่จะหาประโยชน์ใส่ตัว โดยสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น วันดีคืนดี เราอาจพบว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรืออาจกลายเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพไปซะแล้วก็เป็นได้ กรณีตัวอย่างมีเยอะแยะมากมาย และไร้พรมแดนสมคำโฆษณา ทั้งการเอารูปเราไปตัดต่อเพื่อข่มขู่เรียกเงิน หรืออย่างอื่น... หรือซับซ้อนกว่านั้นแบบการจารกรรมข้อมูลส่วนตัว แล้วหลอกลวงให้เราเปิดเผยข้อมูล เอาไปสมัครบัตรเครดิตหรือยื่นขอสินเชื่อในชื่อของเรา

และอีกกรณีศึกษาที่ CNN เขาเอามาเปิดเผย เป็นเรื่องราวของผู้ใช้ Facebook (ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศมากกว่าบ้านเรา) ถูกมือดี แฮกบัญชีของเขาเข้าไปเปลี่ยนสถานะ (Status – ที่คนใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเราจะรู้กันดีว่า เพื่อนๆ ในบัญชีของเราจะต้องสังเกตเห็นแน่นอน) มันจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลยถ้ามันเป็นข้อความประมาณ “ขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้เรามาเจอกัน” แต่ที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาก็เพราะว่ามันกลายเป็น “แย่แล้ว ผมต้องการความช่วยเหลือด่วน” แบบนี้เพื่อนเราเห็นเข้า ไม่ว่าใครก็อดไม่ได้ต้องเข้ามาทักทาย ถามไถ่ใช่มั๊ย นี่ล่ะที่จะเป็นช่องทางให้พวกมิจฉาชีพที่คอยจังหวะอยู่แล้ว ปั้นเรื่องโกหกถึงความเดือนร้อนของเราขึ้นมา และขอความช่วยเหลือจากเพื่อนผู้รู้ไม่เท่าทันของเรา ซึ่งมักเป็นเงินนั่นแหละที่ถูกขอให้โอนผ่านบัญชี เป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ใครหลงเชื่อ โดยไม่ตรวจสอบก็็....เสร็จโจร

เราอาจจะเห็นว่าไอ่หมอนี่มันโง่เนอะ ไปโอนให้ง่ายๆ ได้ไง แต่ในมุมกลับ อย่าลืมว่าความประมาทในกรณีแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าคุณเชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่าระบบนั้นมีความปลอดภัยสูง คงไม่คิดระแวงเพื่อนเราอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ข่าวนี้จึงทำให้คนเล่น Facebook รวมถึงผู้ใช้บริการสังคมออนไลน์อื่นๆ ตื่นตัวและตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวได้เป็นอย่างดี ก็อยากเตือนสติชาวไซเบอร์ในบ้านไว้ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะน้องๆ เยาวชน ที่บางคนถึงขนาดติดงอมแงม เปิดคอมได้เมื่อไหร่ก็อัพเดตกันเมื่อนั้น ไม่ได้ห้ามไม่ให้เล่น แต่อยากให้รู้เท่าทันพวกนักต้มตุ๋น มิจฉาชีพพวกนี้ เรื่องแบบนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครคงไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีแน่

ทีนี้เรามาดูกันว่า พอจะมีวิธีอะไรที่ทำให้เราออนไลน์ได้แบบปลอดภัยขึ้นอีกนิด เจ้าหน้าที่ของ Facebook บอกว่า

- หากมีการขอเงินผ่านทางอินเตอร์เน็ต ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นเพื่อเราหรือไม่ก็ตาม ให้ตรวจสอบข้อมูลก่อน โทรไปคุยกับเจ้าตัวเลยถ้าอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ในเวลานั้น หรือไม่ก็โทรไปเช็คกับเพื่อนๆ ที่รู้จักกันดู
- ให้เราตั้งรหัสผ่านที่สามารถเดาได้ยาก และไม่ใช้รหัสผ่านซ้ำกันในแต่ละชื่อบัญชี เพราะเมื่อพวกแฮกเกอร์แฮกเข้าบัญชีของเราได้อันนึง เขาจะใช้รหัสผ่านนั้นแหละไปลองดูกับชื่อบัญชีอื่นๆ ของเรา
- ใช้เวบเบราว์เซอร์ที่อัพเดตล่าสุด ที่มีเทคโนโลยีช่วยป้องกันพวกไม่ประสงค์ดีที่ส่งข้อความทางเมล์ เพื่อการโจรกรรมข้อมูล
- ใช้โปรแกรมต้านไวรัสและทำการอัพเดตอยู่เสมอ
- ตั้งรหัสผ่านใหม่ถ้าเราสงสัยว่ากำลังถูกแฮก
- สมัครอีเมล์มากกว่าหนึ่งชื่อบัญชี

เพิ่มเติมด้วยคำแนะนำจากเวบไซต์ BBC

- ให้หมั่นตรวจสอบข้อมูลสินเชื่อ และใบแจ้งรายการของธนาคารอย่างสม่ำเสมอ
- รีบอายัดบัตรสำคัญต่าง ๆ ทันทีที่หายหรือถูกขโมย
- ทำลายเอกสารที่ไม่ใช่แล้วให้ละเอียด
- ไม่เปิดเผยรายละเอียดบัญชีธนาคารให้แก่คนแปลกหน้า
- ศึกษาระเบียบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ของเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เข้าใจ

ถึงแม้โอกาสที่จะเกิดขึ้นกับเราจะมีน้อย แต่ภาษิตที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ยังใช้ได้ดีเสมอ จริงมั๊ย

ขอบคุณ: CNN.com, Blog Thai Salesian Sister


ที่มา : http://information.phuketindex.com/technology/it/138-social-network.html

อ่านต่อที่นี่...

Social Network คือการที่ผู้คนสามารถทำความรู้จัก และเชื่อมโยงกันในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หากเป็นเว็บไซต์ที่เรียกว่าเป็น เว็บ Social Network ก็คือเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงผู้คนไว้ด้วยกันนั่นเอง ตัวอย่างของเว็บประเภทที่เป็น Social Network เช่น Digg.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เรียกได้ว่าเป็น Social Bookmark ที่ได้รับความนิยมอีกแห่งหนึ่ง และเหมาะมาก ที่จะนำมาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยในเว็บไซต์ Digg นี้ ผู้คนจะช่วยกันแนะนำ url ที่น่าสนใจเข้ามาในเว็บ และผู้อ่านก็จะมาช่วยกันให้คะแนน url หรือข่าวนั้น ๆ เป็นต้น



ภาพประกอบโดย mandymaarten

สำหรับตัวอย่าง Social Network อื่น ๆ เช่น Hi5 หรือว่า Facebook ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น social network เต็มรูปแบบอีกอย่างหนึ่ง ที่ให้ผู้คนได้มามีพื้นที่ ได้ทำความรู้จักกันโดยเลือกได้ว่า ต้องการทำความรู้จักกับใคร หรือเป็นเพื่อนกับใคร

เมื่อหันมามองเว็บไซต์ไทย ๆ กันดูบ้าง หากมองว่าเว็บไซต์ Social Network ในไทย จะมีเว็บไหนได้บ้าง ลองดูเว็บไซต์ Social Network ที่มีความชัดเจนในเนื้อหาเฉพาะด้าน เช่น Social Network เรื่องท่องเที่ยว อย่างเว็บไซต์ odoza (โอโดซ่า) ที่ให้คนที่ชื่นชอบในเรื่องท่องเที่ยว ได้มาทำความรู้จักกัน ได้มีพื้นที่ให้ share รูปภาพ หรือวีดีโอคลิป ที่ตนเองได้ไปเที่ยวมาได้่

เขียนโดย เก่ง ในหมวด Glossary, Social Media Marketing


ที่มา : http://keng.com/2008/08/09/what-is-social-networking/

อ่านต่อที่นี่...



ทั้งเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ต่างตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี โดยอาศัยกระแสความนิยม ใช้ในการหลอกลวง เป็นเครื่องมือขโมยข้อมูล....


ขณะนี้ ดูเหมือนกระแสการใช้งานสังคมออนไลน์ เริ่มกลับมาสร้างสีสันให้กับสังคมไทยอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยรุ่น คนทำงาน ผู้ใหญ่ นักวิชาการ สื่อมวลชน ศิลปิน ดารานักร้อง ไปจนถึง นายกรัฐมนตรี นักการเมือง ที่ขยับจากการใช้เครือข่ายเพื่อนออนไลน์อย่าง ไฮไฟว์ ได้ขยับปรับกลุ่มมาสู่เฟซบุ๊คที่โดดเด่นด้วยเกมแอพลิเคชัน และแอดออนที่เชื่อมเข้ากับ เว็บสังคมออนไลน์อื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนคอนเทนท์ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ รูปภาพ หรือวิดีโอ รวมไปถึงความคิดเห็นส่วนตัว ที่ไปปรากฎบนหน้าสถานะ

ขณะเดียวกันเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ ยังใช้งานผ่านอุปกรณ์สื่อสารพกพา เช่น สมาร์ทโฟน รุ่นใหม่ๆ อาทิ แพลตฟอร์ม ซิมเบียนโฟน วินโดวส์ โมบายล์ ไอโฟน แอนดรอยด์ และ แบล็กเบอรี่ ที่กำลังคู่คี่สูสีแย่งฐานผู้ใช้งานกันอยู่ เนื่องจากสามารถใช้งานไมโครบล็อกกิ้ง ทวิตเตอร์ ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ ด้วยการที่สื่อสารกันผ่านตัวอักษร และเสริมการเชื่อมโยงอัลบัมภาพออนไลน์ และเว็บไซต์เฟซบุ๊ค ทำให้ไปเข้าตาเหล่าแฮกเกอร์ผู้ไม่หวังดี ที่มองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ จากการหลอกลวง หรือ ล้วงความลับข้อมูลส่วนตัวผ่านสังคมออนไลน์



นายนพชัย ตั้งไตรธรรม ที่ปรึกษาทางเทคนิค บริษัท ไซแมนเทค คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึง รายงานสถานการณ์อีเมล์ขยะประจำเดือน ก.ค.2552 ว่า ปริมาณอีเมล์ หรือ สแปมเมล์ ขยะยังคงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 90% นอกจากสแปมเมอร์เกาะกระแสเหตุการณ์สำคัญ เช่น การเสียชีวิตของไมเคิล แจ็คสัน วันชาติของสหรัฐฯ มาใช้จุดประเด็นความสนใจของผู้ใช้แล้ว สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่สแปมเมอร์ได้นำเทคนิคใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับสแปมรูปมา และยังอาศัยกระแสนิยมของ เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เช่น เฟซบุค หรือ ทวิตเตอร์ มาใช้ในการล่อลวงและแพร่กระจายหนอนไวรัส เพื่อหลอกล่อผู้ใช้งาน หรือ ผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ตกเป็นเหยื่อ พร้อมขโมยเอาข้อมูลส่วนตัว

ที่ปรึกษาทางเทคนิค บ.ไซแมนเทคฯ อธิบายต่อว่า สแปมเมอร์จะใช้ทวิตเตอร์มาหลอกล่อเหยื่อให้ติดกับการโจมตีด้วยวิธีการส่งข้อความหลอกลวง หรือ ฟิชชิ่ง และเมื่อเร็วๆ นี้ ไซแมนเทคสังเกตเห็นการจู่โจมลักษณะเดียวกันในระลอก 2 ครั้งนี้เป็นการแอบอ้างชื่อทวิตเตอร์ เพื่อส่งอีเมล์เชิญชวนที่มาพร้อมหนอนไวรัส ที่พร้อมแพร่กระจายโดยการส่งอีเมล์จำนวนมาก โดยข้อความที่ไซแมนเทคสังเกตพบนั้น ถูกส่งโดยบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ แต่สิ่งที่แตกต่างจากการส่งข้อความบนทวิตเตอร์ของจริง คือ ในข้อความเชิญชวนนั้น จะไม่มีลิงค์เชิญชวนปรากฏอยู่ในเนื้อหา

นายนพชัย อธิบายเสริมว่า สิ่งที่ปรากฏกลับกลายเป็นไฟล์แนบในรูปของ .zip แทน ที่ชวนให้ผู้รับเข้าใจว่าเป็นการ์ดเชิญแนบมาด้วย และการ์ด .zip นี่แหละ คือ การคุกคามจากหนอนไวรัสประเภท W32.Ackantta.B@mm ที่มีการตรวจพบเป็นครั้งแรกในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และเป็นไวรัสประเภทอีการ์ด โดย W32.Ackantta.B@mm โดยจะแพร่กระจายด้วยการส่งอีเมล์จำนวนมาก จากเครื่องที่ติดไวรัส อีกทั้งยังแพร่กระจายด้วยการทำสำเนาตัวเอง ไปอยู่ในไดร์ฟที่มีผู้นำมาต่อกับเครื่อง รวมถึงในโฟลเดอร์ที่มีการใช้งานร่วมกัน

ขณะที่ ศูนย์วิจัย เทรนด์ แล็ปส์ บริษัทเทรนด์ ไมโคร อิงค์ ได้รายงานระบุว่า เว็บไซต์ไมโครบล็อกกิ้งทวิตเตอร์ (http://www.twitter.com/) ยังคงได้รับความนิยมในบรรดาผู้เล่นสังคมออนไลน์ต่อไป บรรดาผู้ใช้งานก็ยังคงได้รับคำเชิญ และอีเมล์อัพเดทต่างๆ จากผู้อื่น และบรรดาสแปมเมอร์ก็จะยังคงใช้ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ประเภทเครือข่ายเชิงสังคมต่างๆ ที่ได้รับความนิยม เป็นช่องทางในการล่อลวงต่อไป โดยในกรณีที่อาชญากรไซเบอร์ไม่ได้ใช้ช่องโหว่ซีโร่เดย์ในการโจมตี พวกเขาจะเลือกใช้ความนิยมที่กำลังเพิ่มขึ้นของทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือมากกว่า



รายงานของเทรนด์ แล็ปส์ อธิบายอีกว่า ที่ผ่านมาพบว่า หนอนอินเทอร์เน็ต KOOBFACE ที่ตรวจพบในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ได้พุ่งเป้าโจมตีไปที่ทวิตเตอร์ และในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ยังพบด้วยว่าการโจมตีในลักษณะนี้กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก

รายงานของเทรนด์ แล็ปส์ อธิบายด้วยว่า จากการศึกษาล่าสุดพบว่า หนอนในตระกูลนี้ได้รับการพัฒนาให้ยากต่อการกำจัด อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงอันตรายของ การทวิต หรือ ข้อความที่ส่งขึ้นไปบนทวิตเตอร์ ที่จะมีการแสดงข้อความการลงทะเบียนซอฟต์แวร์บำรุงรักษา ที่คล้ายกับโปรแกรมป้องกันไวรัสลวง และจากการวิเคราะห์เพิ่มเติมยังพบด้วยว่าเว็บไซต์แห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่เก็บซอฟต์แวร์ปลอมแล้ว ยังมีเครื่องมือต่างๆ ที่ทำให้ผู้ใช้ส่งทวิตได้ในปริมาณมากอีกด้วย



นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนสำหรับผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ต้องระมัดระวังมากขึ้นเป็นเท่าตัว ในการใช้งานเว็บไซต์ชื่อดังทั้งเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ เพราะยิ่งได้รับความนิยมมีจำนวนผู้ใช้งานมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นที่หมายปองของเหล่าอาชญากรไซเบอร์ และแฮกเกอร์ ที่มุ่งขโมยข้อมูลส่วนตัว และแพร่กระจายมัลแวร์ร้ายต่างๆ ไปฝังตัวอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการใช้เพื่อดำเนินการหลอกลวงทางออนไลน์ หรือหวังในทรัพย์สิน และการที่เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นของใหม่ การป้องกันของโปรแกรมระบบความปลอดภัย อาจจะยังตามไม่ทัน จึงควรใช้งานอย่างระมัดระวัง และไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ จะเป็นการดีที่สุด...

จุลดิส รัตนคำแปง
itdigest@thairath.co.th

บทความจาก : ไทยรัฐ
วันที่ : 14 สิงหาคม 2552


ที่มา : http://www.bcoms.net/article/detail.asp?id=890>

อ่านต่อที่นี่...



จากไฮไฟว์ถึงทวิตเตอร์

ธรรมชาติของมนุษย์มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดการติดต่อสื่อสารระหว่างกันและมีการพัฒนาในหลาย ๆ ด้านเพื่อตอบสนองความต้องการของการใช้งานจึงเกิดเป็นสังคม ออนไลน์ขึ้นในปัจจุบัน


สังคมออนไลน์ ในความรู้สึกของเราทุกวันนี้คือความต้องการที่จะออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตเพื่อทำความรู้จัก พูดคุย ติดต่อสื่อสารกัน ชัชวาล สังคีตตระการ ผู้ช่วยวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็ก ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความรู้ว่า ยุคนี้ถือเป็นยุคของเว็บ 2.0 โดยก่อนหน้านี้เราจะอยู่ในยุคของเว็บ 1.0 ที่มีการสื่อสารทางเดียวคือ การอ่านเพียงอย่างเดียว แต่ช่วงหลัง ๆ มนุษย์เราด้วยความที่เป็นสัตว์สังคมจึงไม่ต้องการสร้างเว็บแค่ให้อ่านเพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถสร้างความพึงพอใจ โดยการสร้างประวัติโดยย่อ และ มีแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ให้เลือก ใช้รวมทั้งสามารถโพสต์ข้อความหรือแสดงความคิดเห็นได้ด้วย จึงเกิดเป็นสังคมออนไลน์ขึ้น

เว็บไซต์เด่น ๆ ในบ้านเราที่เป็นสังคมออนไลน์ ได้แก่ ไฮไฟว์, มายสเปซ, เฟซบุ๊ก, มัลติพลาย และ ทวิตเตอร์ ส่วน เอ็มเอสเอ็น, ไอซีคิว นั้นเป็นการสนทนาออนไลน์หรือที่เรารู้จักว่า แชต ส่วน ยูทูบ ก็ไม่ได้จัดเป็นสังคมออนไลน์แต่ก็ถือเป็นส่วนประกอบได้เนื่องจากเป็นการแชร์คลิปวิดีโอสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่กัน เพราะคำจำกัดความของสังคมออนไลน์ คือต้องมีการเขียนประวัติแนะนำตัวเอง

“ไฮไฟว์” เป็นสังคมออน ไลน์ที่ใหญ่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 65 ล้านราย สมาชิกส่วนใหญ่ จะใช้ไฮไฟว์ในการติดต่อสื่อสาร กับกลุ่มเพื่อน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แชร์รูปภาพและ คลิปวิดีโอกันดู ซึ่งในแต่ละวันจะมีสมาชิกเข้ามาใช้บริการจากทั่วโลกนับล้านราย มีการเปิดตัวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2546 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่วนในประเทศไทยไฮไฟว์เป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แต่ขณะนี้เริ่มอิ่มตัวแล้ว นักท่องโลกไซเบอร์โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานจึงหันมาให้ความสนใจ “เฟซบุ๊ก” กันมากขึ้น เพราะเงียบสงบและมีข้อจำกัดในการสมัครมากกว่าไฮไฟว์ เริ่มเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2547 โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย ฮาร์เวิร์ด ในช่วงแรกเปิดใช้งานเฉพาะนักศึกษาและต่อมา วันที่ 11 ก.ย. 2549 จึงขยายมาใช้สำหรับผู้ใช้ทั่วไปทุกคนเหมือนในปัจจุบัน สำหรับรูปแบบการใช้มีลักษณะคล้ายไฮไฟว์ คือ มีพื้นที่มากในการเขียนประวัติส่วนตัว ใส่รูปภาพ คลิปวิดีโอเพลง เล่นเกม ซึ่งเราสามารถปรุงแต่งพื้นที่ของเราในการแนะนำตัวเองได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันเสริมอื่น ๆ ที่สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินจำนวนมาก

ในขณะที่ “ทวิตเตอร์” เกิดขึ้นได้ประมาณ 3 ปีแล้ว โดยเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 ปีเดียวกับเฟซบุ๊กที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และใช้กันในวงแคบ แต่ปัจจุบันในประเทศไทยมีกระแสดังขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งมีสถิติผู้สนใจเข้ามาเล่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีบุคคลสำคัญระดับประเทศอย่างนายกรัฐมนตรี นำมาใช้ในการติดต่อสื่อสารจนเป็นข่าวดังเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้หลายคนที่ไม่เคยรู้จักทวิตเตอร์จึงอยากทดลองสมัครใช้บ้าง โดย ชัชวาล อธิบายว่า ทวิตเตอร์ คือ การติดต่อ สื่อสารที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราว เหมือนกับชื่อ ทวิต ความหมายคือ เสียงนกร้อง เวลานกร้องบอกกันก็จะร้องจิบ ๆ ต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ การเล่นทวิตเตอร์จึงเหมือนเสียงนกร้องที่จะร้องบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ

ทวิตเตอร์ เป็นบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จำพวกไมโครบล็อก ที่ผู้ส่งสามารถส่งข้อความได้ยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่เหมือนเป็นการอัพเดทตัวเองให้ผู้ที่เราแอดไว้เป็นเพื่อนทราบได้หลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ทวิตเตอร์, อีเมล, เอสเอ็มเอส ฯลฯ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 หลักการคือ เราเป็นผู้ตาม หรือมีผู้ตามเรา ในเรื่องที่น่าสนใจ โดยส่วนใหญ่จะใช้กันในกลุ่มของนักวิจัย นักพัฒนา จึงแตกต่างจากไฮไฟว์และเฟซบุ๊ก เพราะทวิตเตอร์จะอาศัยความสนใจโดยที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกันมาก่อนเพื่อแชร์ความรู้ซึ่งกันและกัน

วิธีการเล่นนั้นหลังจากที่สมัครและแอดเพื่อนแล้ว หากใครที่ตามเราอยู่เวลาเราส่งข้อความหรือเรียกกันว่า “ทวิต” ข้อความก็จะถูกส่งไปถึงทุกคนที่สนใจตัวเราอย่างรวดเร็ว เช่น เรากำลังเศร้าหรือเสียใจอยู่ แต่จะตอบหรือไม่นั้นก็แล้วแต่ผู้รับ ส่วนการตามผู้ที่เราสนใจนั้นหากเขาทวิตอะไรมาเราก็จะทราบเรื่องของเขา เช่น คนดังอย่างนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ทวิตเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก็จะทำให้เราทราบข่าวก่อนใครที่ไม่ได้เป็นเพื่อนหรือก่อนที่สื่อจะลงข่าวสร้างความใกล้ชิดกันมากขึ้น

แทบไม่น่าเชื่อว่าการที่เรารับรู้เรื่องราวของคนอื่นว่าใครทำอะไรอยู่ที่ไหนหรือใครรับรู้เรื่องราวของเราจะกลายเป็นเรื่องสนุกสนานทำให้ผู้คนมากมายหันมาสนใจสมัครเล่นกันมากขึ้นในเวลารวดเร็ว ผู้ช่วยวิจัย ศูนย์เทคโน โลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอม พิวเตอร์แห่งชาติ ยังบอกอีกว่า วัตถุประสงค์ของการใช้สังคม ออนไลน์ คือ ความอยากเป็น ที่สนใจและยอมรับ เนื่องจาก ธรรมชาติของมนุษย์อยากแนะนำตัวเองแต่ไม่กล้า พอมีเนื้อที่ให้ขีดเขียนแสดงตัวตนและแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกันทำให้สร้างความสนใจได้เป็นอย่างดี กระแสสังคมออนไลน์จึงเป็นที่นิยมมากขึ้น ยิ่งมีเพื่อนเข้ามาแอดหรือมาแสดงความคิดเห็นทำให้เรารู้สึกดีใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์กว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงรู้จักกันในกลุ่มเพื่อนเท่านั้น แต่ทำให้คนเราสามารถรู้จักกันได้ทั่วโลก บางครั้งเพื่อนที่ไม่เคยเจอกันมา 10-20 ปี ก็โคจรมาเจอกันในสังคมออนไลน์นี้ จึงทำให้โลกแคบลงโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปมาหากัน

นอกจากวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ทวิตเตอร์เองก็ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในกลุ่มด้านการตลาด องค์กร และผู้ขายสินค้าแบรนด์ดังต่าง ๆ ที่หันมาใช้ทวิตเตอร์ในการสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี รวมทั้งไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าผู้บริโภคสนใจก็ติดตามและซื้อสินค้าแบรนด์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามด้วยความที่สะดวก ประหยัด รวดเร็วและสามารถรับผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทำให้สำนักข่าวต่าง ๆ หันมาใช้ทวิตเตอร์กันมากขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้การใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ต่าง ๆ หากเรารู้จักใช้ก็ถือเป็นประโยชน์อย่างสูงสุด แต่หากใช้ไม่เป็นอาจกลายเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะบางทีสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากจากทุกแห่งหนเข้ามาโพสต์ข้อความเพื่อ สร้างตัวตนให้ตัวเองดูดีก็เปรียบเสมือนเป็นโลกใบหนึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง บางครั้งก็ไม่เป็นความจริงเสมอไป เราจึงต้องรู้จักเตือนใจตัวเองไว้อยู่เสมอถึงแม้จะมีระบบความปลอดภัยในตัวเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าเพื่อน ที่เรารู้จักจาก 100 คน จะไม่มีมิจฉาชีพแอบแฝงมาด้วย เพราะที่ผ่านมาก็มีข่าวในลักษณะนี้ อยู่บ่อย ๆ จึงอย่าพยายามโพสต์ ข้อความที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป เช่น ตอนนี้เหงาจังอยู่บ้านคนเดียวหรือว่าจะไปเที่ยวและไม่มีคนอยู่บ้านหลายวัน เพราะเป็นการเปิดช่องทางให้พวกมิจฉาชีพที่จับจ้องเราอยู่ทราบความเคลื่อนไหวและมีโอกาสก่อเหตุร้ายขึ้นได้ทุกเมื่อ

ดังนั้นความปลอดภัยอยู่ที่ตัวเราเองว่าจะป้องกันตัวได้มากน้อยแค่ไหน..?

กรวิกา คงเดชศักดา

ขอขอบคุณข่าวจาก


ที่มา : http://board.postjung.com/419939.html

อ่านต่อที่นี่...



เมื่อก่อนเวลาเจอเพื่อนใหม่มักจะถามว่า มีเอ็ม (อันย่อมาจาก MSN) ไหม ?? ตอบไปแล้วก็แลกอีเมล์เพื่อไปแอด (add) กัน แต่เดี๋ยวนี้นอกจากคำถามเดิมแล้ว ยังมีถามต่อด้วยว่า เล่น hi5 ด้วยไหม? ถ้ามีก็ เอ้า ! แอดไปอีกหนึ่งรายการ (ใครที่ไม่รู้จัก hi5 ขอยืมคำพูด (แอ๊บแบ๊ว) ของชาวบ้านมาแล้วบอกได้เลยว่า ตะเองอ่ะ เชยจังเวย)


hi5 คือหนึ่งในรายการของสิ่งที่เรียกเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ว่า social networking เนื่องด้วยในโลกไซเบอร์ใบใหญ่ที่ไม่สิ้นสุดเหมือนจักรวาล และ social network ก็คือเครือข่ายหนึ่งของโลกใบนั้น เป็นเครือข่ายทางสังคมที่ถูกเชื่อมต่อกันด้วยรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง เช่น มุมมอง ความคิด การแลกเปลี่ยนทางการเงิน มิตรภาพ ความขัดแย้ง การค้า หรือแม้แต่ web links โดย social network เผยความสัมพันธ์ในรูปแบบที่มีตัวเชื่อม อาจจะเป็นบุคคลหรือเครือข่าย งานวิจัยเชิงวิชาการระบุว่า เครือข่ายทางสังคมแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคลที่มีความใกล้ชิดไปจนถึงระดับชาติ

คำอธิบายที่ง่ายที่สุด social network คือแผนผังความเกี่ยวข้องของความสนใจในรูปแบบต่างๆ เป็นการรวมกันเข้าไว้ซึ่งความผูกพันและความสนใจ อาทิ ความสัมพันธ์ของกลุ่มเพื่อน นับตั้งแต่เพื่อนอนุบาล เพื่อนประถม เพื่อนเรียนพิเศษ เพื่อนที่ทำงาน กลุ่มวงศ์ตระกูล กลุ่มคนเล่นกล้อง กลุ่มคนสะสมตุ๊กตาน้องไบรท์ กลุ่มเพื่อนดำน้ำ กลุ่มแฟนคลับเอเอฟ กลุ่มคนรักนัท-ต้อล ฯลฯ

ปัจจุบันโลกไซเบอร์นำเราให้มาเจอเพื่อนได้ง่าย ผ่านสิ่งที่เราเรียกว่า social networking ในชื่อของเว็บไซต์ที่เราคุ้นเคยกันอย่าง Facebook, hi5, Friendster, Multiply, MySpace, Windows Live Spaces ฯลฯ

สำหรับบ้านเราคงไม่มี social networking ไหนที่จะฮิตได้เท่า hi5.com ซึ่งนอกจาก Google.co.th ที่มีจำนวนเพจวิวเยอะที่สุดในประเทศไทยแล้ว ตัวเลขล่าสุดจาก Alexa.com เว็บที่คอยแสดงสถิติเว็บไซต์ยอดนิยมของทั่วโลกเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นว่า hi5.com ก็เป็นเว็บที่มีการใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประเทศไทย (แต่ในบางเดือน hi5 ก็มาเป็นอันดับ 1 นะ)

ความนิยมของ hi5 มองเห็นได้จากการที่นักการตลาดพยายามเข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่ไซเบอร์สเปซแห่งนี้ เห็นได้จากแคมเปญของโทรศัพท์มือถือโนเกีย Nokia 24 hrs ที่นำเอากลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใน hi5 อย่างแนบเนียน จนโนเกียกลายเป็น top friend ของหลายคน โดยให้ ADapter Digital Media Agency เป็นผู้ออกแบบแคมเปญนี้ ผ่าน social networking ของ hi5 ในชื่อ http://nokia24hrs.hi5.com/ เพื่อทำให้โนเกียมีเพื่อนให้มากที่สุด

แคมเปญนี้นำเอาคนดังอย่าง สายป่าน-อภิญญา และอ้น-สราวุฒิ มาสร้าง profile เพื่อดึงให้ผู้ใช้ hi5 มาเป็นเพื่อนด้วย โดย hi5 ของทั้งคู่จะเซต top friend เป็น nokia24hrs.hi5.com และทำให้เพื่อนของคนดังเซ็ตตามด้วย โดยแคมเปญนี้มีกิจกรรมโนเกีย 24 ชั่วโมงให้คนมาลงทะเบียนและส่งภาพความประทับใจช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2007 ถึง 18.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2008 ภาพที่โดนใจและชั่วโมงจะได้รับรางวัลเป็นโนเกีย 6500 ทุกชั่วโมง รวมแคมเปญนี้แจกทั้งหมด 24 เครื่อง ซึ่งผลสำเร็จของแคมเปญนี้เป็นที่น่าพอใจ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย

เช่นเดียวกับแคมเปญ พี.อาร์.ของหนังรักวัยรุ่นเรื่อง ?รักแห่งสยาม? ที่ทำการประชาสัมพันธ์ด้วย social networking ที่สร้าง profile ให้กับตัวของหนังและนักแสดง ซึ่งมีผู้เข้าชมถึง 4 หมื่นกว่าครั้ง และมีเพื่อนมากถึง 1 หมื่นคน ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จเรื่องของการรับรู้และสร้างความสัมพันธ์ต่อเนื่อง กับแฟนๆ ของตัวหนัง

Brand Profile - Celebrity Profile

อำนาจของ social networking ไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้เพื่อพบปะเพื่อนของเพื่อนของเพื่อนของเพื่อน แต่ถูกนำมาใช้ในเชิงการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการสร้างพันธมิตรทางการเมือง เห็นได้จาก social networking อย่างเป็นทางการของบารัก โอบามา ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยทีมงานผู้สนับสนุนเขามากถึง 16 เว็บไซต์ ได้แก่ Facebook ซึ่งเป็น social networking ที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับต้นๆ ของอเมริกา, Black Planet, MySpace, Faithbase, YouTube, Eons, Flickr, Glee, Digg, MiGente, Twitter, MyBatanga, Eventful, Asian Ave, LinkedIn และ DNC PartyBuilder โดยถือว่าเขาเป็นนักการเมืองที่มุ่งประชาสัมพันธ์ตัวเองในสื่อที่เรียกว่า free media ได้อย่างคุ้มค่า ในบ้านเราก็จะเห็นว่ามีอยู่คนหนึ่งที่ใช้ แล้วก็รู้สึกว่าค่อนข้างจะประสบความสำเร็จไม่น้อย คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะมีคนมาเข้าดูกว่า 175,000 ครั้ง และมีเน็ตเวิร์กเพื่อนมากถึง 119,761 คน เห็นได้จากความสำเร็จของการใช้ social networking ของ บารัก คือเขาได้ทำคลิปคำปราศัยของเขาใหม่ โดยให้แบล็กอายส์พีมาแร็ปตามคำที่เขากล่าว หลังจากนั้นก็ตัดมาลงใน youtube และเมื่อคนเข้ามาฟังเพลงก็จะรู้และเข้าใจว่า สิ่งที่เขาต้องการสื่อคืออะไร โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นซึ่งจะมีการส่งต่อกันไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างไร

ไม่เพียงแค่นั้นยังจะเห็นได้ว่าระยะหลังๆ มีคนดังมากมายที่มี social networking เป็นของตัวเองในนาม hi5 ซึ่ง ชาตรี โชคมงคลเสถียร Digital Media Planner จาก ADapter Digital Media Agency ให้ความเห็นว่า มีทั้งแบบเป็นของจริงและไม่จริง

แบบจริง คือ ตัวจริงมาใช้เอง ทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัวของเขาเอง ถามว่าทำขึ้นทำไม น่าจะเพื่ออยากให้เข้าถึงแฟนคลับได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดหนึ่งที่ยังมีความเป็นส่วนตัวนะ เขาได้รู้จักเรา แต่เขาไม่ได้เข้ามาใกล้เรามากไป อย่างที่เคยเห็นมีก็ของเจ-เจตริน ที่อัพเดตรูปครอบครัว ส่วนที่ไม่จริงก็คือทำเพื่อการตลาด อย่างที่เราทำให้กับเป๊ปซี่ แมกซ์ โดยมี profile ของพรีเซ็นเตอร์อย่างเทย่า, อนันดา, ญารินดา, น้อย และกรณ์ ซึ่งในตรงนี้เขาก็จะมี permission ให้เราทำ แล้วเขาก็จะขอดูว่าอันไหนเขาให้ได้ หรือให้ไม่ได้ และสุดท้ายก็พวกที่เฟกขึ้นมาเลย ส่วนมากจะเป็นแฟนคลับทำ เช่น ทาทา ยัง ถ้าลองเสิร์ชในไฮไฟฟ์ดู ก็จะเห็นว่ามีทาทาเยอะมาก และทาทาจะมีเพื่อนเป็นทาทาเยอะมากเหมือนกัน หรือนอกจากนั้นก็จะเห็นว่าแมกาซีนวัยรุ่น chic happen, the boy ก็มี hi5 หรือผับต่างๆ ก็ทำนะ มีการทำ community profile หรืออย่างร้านเสื้อผ้าเองก็มีทำ เช่น ร้าน de veen ที่สยามสแควร์ ซึ่งในนั้นจะมีตัวอย่างให้ดู มีคอลเล็กชั่นใหม่ๆ คนที่เข้ามาก็มีคนที่เป็นลูกค้า อย่างร้านเสื้อผ้าเขาจะขอข้อมูลลูกค้าเอาไว้ แล้วก็แอดลูกค้าเอาไว้เป็นเพื่อน พอมีคอลเล็กชั่นใหม่ เขาไม่ต้องมาสยาม ดูใน hi5 เลย แล้วก็มีการทำโปรโมชั่นผ่านตรงนี้ นี่เป็น CRM ของร้านเอง ซึ่งก็ได้ผลนะครับ

กลยุทธ์การใช้ social networking เพื่อการประชาสัมพันธ์นี้ นับว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ชาตรีกล่าวว่า ข้อดีของการใช้ social networking คือ เป็นพื้นที่ฟรี มีค่าใช้จ่ายน้อย แต่ก็วัดผลได้ยาก สามารถวัดได้แค่การรับรู้ของคน แต่ในระดับของการตัดสินใจซื้อก็ต้องใช้การวัดอย่างอื่น และเนื่องด้วย social networking อยู่ในกระแส เมื่อทำอะไรไปก็จะกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ได้ง่าย และมีคนเข้ามาดูแน่ๆ แต่ก็ยากตรงที่ไม่สามารถลงเป็นดิสเพลย์ แบนเนอร์ ความยากของการทำให้เนียน และผู้บริโภคไม่ให้ความรู้สึกต่อต้านเหมือนกับเวลาที่ดูโฆษณา คนเข้ามารับรู้ข้อมูลกับแบรนด์โดยไม่รู้สึกว่าเป็นโฆษณามากเกินไป คนก็เปิดใจที่จะทำความรู้จักกับแบรนด์ได้ และทำให้เกิดการบอกต่อและพูดต่อได้

ส่วนข้อเสียคือ ตัว hi5 ไม่มีนโยบายในเรื่องของคอมเมอร์เชียล ดังนั้นใครที่สร้าง profile ที่เป็นแบรนด์ และเน้นขายของมากไปก็จะถูกลบทิ้ง และในเจ้าของ profile ไม่สามารถควบคุมข้อความที่เป็นลบกับแบรนด์ได้ แน่นอนว่าอาจจะมอนิเตอร์ได้ หรือลบข้อความแง่ลบทิ้งได้ แต่ก็ไม่สามารถจะทำได้ตลอดเวลา จะเห็นว่ามีคนมาบ่น หรือเขียนด่าได้ เนื่องจากเป็น 2 way community แบบทันทีทันใด เช่น ถ้าทำแคมเปญให้เป๊ปซี่ แฟนโค้กอาจจะเข้ามาปั่น หรือมาบลัฟได้

ก้าวสู่การบริโภคข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไป

การเข้ามาของ social networking ทำให้เราตระหนักถึงพฤติกรรมการบริโภคข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ มีการวิจัยพบว่า 86% ของผู้บริโภคไม่เชื่อในสิ่งที่แบรนด์พูด แต่หันมาเชื่อในสิ่งที่คนด้วยกันพูดมากกว่า อีกทั้งรูปแบบพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่จะชื่นชอบ DIY หรือ Do it yourself โดยจะเห็นได้จากการเข้ามาของ web 2.0 ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสสร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้ เข้ากับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจะสื่อสารตัวตนออกไป

ดร.เปี่ยมสุข เมนะเศวต นักวิชาการด้านสตรีศึกษาและจิตวิทยา เคยกล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า hi5 เป็นวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมขึ้นมาช่วงขณะหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกำลังเข้าสู่ช่วงอิ่มตัว และต่อไปจะเป็นช่วง decline และจะอยู่จนกว่ามีเทคโนโลยีแบบใหม่เข้ามาแทนที่ แต่ถึงกระนั้น hi5 คงยังไม่ตายไปจากตลาด แต่จะเข้าสู่การตลาดรูปแบบอื่นแทน

อินเทอร์เน็ตเข้ามาเร็วมากช่วงยุค globalization ทำให้เด็กไม่สามารถกลั่นกรองเว็บต่างๆ เลยกลายเป็นเหยื่อนายทุน โดยเฉพาะเด็กในแถบเอเชียที่นิยมเล่นคอมพิวเตอร์มาก หากเทียบกับเด็กในยุโรปจะนิยมการเดินทางท่องเที่ยวมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเด็กไทยถูกกดดันจากสภาพของวัฒนธรรมที่ไม่สามารถแสดง ตัวตนที่แท้จริงเมื่ออยู่ในที่สาธารณะได้ ดังนั้นฟังก์ชัน มือถือ คอมพิวเตอร์ จึงเป็นสื่อเพื่อแสดงความเป็นตัวตนแทน รวมถึงเจเนอเรชั่นนี้มีอารมณ์เหงาอย่างรุนแรง เพราะทุนนิยมที่สร้างให้คนอยู่แบบตัวใครตัวมัน คนจึงเหงามากขึ้นและต้องการหาคนมาอยู่ด้วย ประกอบกับวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ซึ่ง hi5 เมื่อเล่นแล้วได้เพื่อน ได้สิ่งอื่นๆ ในลักษณะ full option คนจึงนิยมมาก

ชาตรีให้ความเห็นว่า เมื่อก่อนเวลาลงโฆษณาจะลงช่วงไพรมไทม์ ปัจจุบันเป็นเรื่องของ my time กลายเป็นว่าทำโฆษณาก็ต้องตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ที่ผ่านมาสื่อที่คนส่วนมากรับคือ ทีวี หนังสือพิมพ์ แมกาซีน วิทยุ แต่เดี๋ยวนี้ชีวิตเปลี่ยนไป ออกจากบ้านขึ้นรถไฟฟ้า พอถึงที่ทำงานก็เล่นเน็ต เช็กอีเมล์ บางคนแทบจะไม่ได้ดูทีวีเลย เราก็มองเห็นว่าจะมี contact point มีจุดที่เราจะเข้าไปสื่อสารกับคนมากขึ้น อาจจะเป็นอินเทอร์เน็ต สื่อบนรถไฟฟ้า สื่อนอกบ้าน ดังนั้นวิธีการคิดก็เปลี่ยนไป เดิมลูกค้าจะบอกว่าต้องมีทีวี วิทยุ แต่เดี๋ยวนี้ต้องมีอินเทอร์เน็ต ดังนั้นเทรนด์ออนไลน์ก็ไม่แค่อีเมล์ แบนเนอร์เท่านั้น แต่นักโฆษณาก็พยายามเข้าไปใน social networking ยังไงให้เหมาะ ให้ตรง และให้เนียน

เห็นได้ว่ากลยุทธ์ที่จะสามารถใช้ได้จากประโยชน์ของ social networking ที่น่าสนใจในตอนนี้คือ word of mouth หรือการบอกปากต่อปาก เนื่องจากกลุ่มคนที่อยู่ในสังคมเดียวกันจะเชื่อคำพูดของคนในกลุ่มมากกว่า สื่อโฆษณา และเชื่อคนที่มีอิทธิพลต่อตัวเอง อาจเป็นดารา เซเลบริตี้ หรือเพื่อนๆ และยังใช้ experience marketing เพื่อการสร้างประสบการณ์ให้กลุ่มเป้าหมาย โดยให้ผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์กับสินค้า หรือโดยได้มีโอกาสออกแบบคอนเทนต์ได้ด้วยตัวเอง

คอลัมน์ STORY
โดย ทีมงาน DLife
อ้างอิงจาก : http://www.wiseknow.com/blog/2008/06/11/296/


ที่มา : http://www.marketingbyte.com/articles/article-250-social-networking

อ่านต่อที่นี่...

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บริการเครือข่ายสังคม (social network service) เป็นรูปแบบของเว็บไซต์ ในการสร้างเครือข่ายสังคม สำหรับผู้ใช้งานในอินเทอร์เน็ต เขียนและอธิบายความสนใจ และกิจการที่ได้ทำ และเชื่อมโยงกับความสนใจและกิจกรรมของผู้อื่น ในบริการเครือข่ายสังคมมักจะประกอบไปด้วย การแช็ต ส่งข้อความ ส่งอีเมล วิดีโอ เพลง อัปโหลดรูป บล็อก


บริการเครือข่ายสังคมที่เป็นที่นิยมได้แก่ ไฮไฟฟ์ มายสเปซ เฟซบุ๊ก ออร์กัต มัลติพลาย โดยเว็บเหล่านี้มีผู้ใช้มากมาย เช่น ไฮไฟฟ์เป็นเว็บไซต์ที่คนไทยใช้มากที่สุด ส่วนบริการเครือข่ายสังคม ที่ทำขึ้นมาสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ คือ บางกอกสเปซ ในขณะที่ออร์กัตเป็นที่นิยมมากที่สุดในประเทศอินเดีย

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/บริการเครือข่ายสังคม

อ่านต่อที่นี่...




ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุไรรัตน์ ทองคำชื่นวิวัฒน์
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ปัจจุบันโลกอินเตอร์เน็ตกำลังอยู่ในยุคกลางหรือยุคปลาย ๆ ของ web 2.0 กันแล้ว จึงทำให้มีเว็บไซต์ในลักษณะ Social Networking Service (SNS) ออกมามากมาย เป็นบริการผ่านเว็บไซต์ที่เป็นจุดโยงระหว่างบุคคลแต่ละคนที่มีเครือข่ายสังคมของตัวเองผ่านเน็ตเวิร์คอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเชื่อมโยงบริการต่างๆ อย่างเมล เมสเซ็นเจอร์ เว็บบอร์ด บล็อก ฯลฯ เข้าด้วยกันตั้งแต่ Hi5, MySpace, Facebook, Bebo, LinkedIn, Multiply, Ning และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดจะมีส่วนที่คล้ายกันคือ "การแอ๊ดเพื่อน" ตามหลักการ Friend-Of-A-Friend (FOAF) โดยปกติแล้วสิ่งที่ SNS ให้บริการพื้นฐานคือ การให้ผู้สนใจสร้าง profile ลงในเว็บ บางที่อาจอนุญาตให้อัพโหลดไฟล์แบบต่างๆ ไม่ว่าจะภาพ เสียง หรือ คลิปวีดีโอ จากนั้นก็จะมีเรื่องของการ comment (เม้นต์) มี Personal Messeage (PM) ให้คุยส่วนตัวกับเพื่อนบางคน และที่ต้องทำก็คือ ไล่อ่าน ไล่เม้นต์ ไปตาม Profile ของคนอื่นเรื่อยๆ


Social Network ยังไม่มีคำไทยเป็นทางการ มีการใช้คำว่า “เครือข่ายสังคม” บ้าง “เครือข่ายมิตรภาพบ้าง” “กลุ่มสังคมออนไลน์” Social Network นี้ถือว่าเป็นเทคโนโลยีอีกอันนึง ที่สามารถช่วยให้เราได้มามีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของคำว่า Social Network นี้จริงๆ แล้วก็คือ Participation หรือ การมีส่วนร่วมด้วยกันได้ทุก ๆ คน (ซึ่งหวังว่าผู้ที่ติดต่อกันเหล่านั้นจะมีแต่ความปรารถนาดี สิ่งที่ดีๆ มอบให้แก่กันและกัน) ถ้าพูดถึง Social Network แล้ว คนที่อยู่ในโลกออนไลน์คงจะรู้จักกันเป็นอย่างดี และก็คงมีอีกหลายคนที่ได้เข้าไปท่องอยู่ในโลกของ Social Network มาแล้ว ถึงแม้ว่า Social Network จะไม่ใช่สิ่งใหม่ในโลกออนไลน์ แต่ก็ยังเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มคนที่ใช้อินเตอร์เน็ต ทำให้เครือข่ายขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ และจะยังคงแรงต่อไปอีกในอนาคต จากผลการสำรวจจากประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันการใช้บริการ Social Network ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และมาแรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกออนไลน์ ส่วนเว็บไซต์ที่มีจำนวนผู้เข้าชมสูงสุดทั่วโลก ก็เห็นจะเป็น My space, Facebook และ Orkut สำหรับเว็บไซต์ ที่มีเปอร์เซ็นต์เติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวก็เห็นจะเป็น Facebook แต่สำหรับประเทศไทยที่ฮอตฮิตมากๆ ก็คงจะหนีไม่พ้น Hi5

ผลกระทบทางบวกของบริการ SNS

SNS เป็นบริการออนไลน์ที่มีประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์หลายด้าน ดังนี้

1. ด้านสังคม SNS เป็นการเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน ซึ่งเป็นความสวยงามที่สุดของอินเทอร์เน็ต SNS รายใหญ่อย่าง Hi5 มีสมาชิกอยู่เกือบ 100 ล้าน account ทั่วโลก บางคนมี "เพื่อน" เป็นหลักหมื่นหลักแสนอยู่ในไซเบอร์สเปซ SNS ทำให้คนมีตัวตนอยู่ได้บนไซเบอร์สเปซ เพราะจะต้องแสดงความเป็นตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้ Profile น่าสนใจ และมีชีวิตชีวาที่สุด บ้างก็เน้นไปที่การใส่ข้อมูลเนื้อหา blog รูปถ่ายในชีวิตประจำวัน เรื่องราวเพื่อนคนใกล้ตัว บ้างก็เน้นไปที่ลูกเล่นใส่ glitter หรือตัววิ๊ง ๆ เข้าไป สุดท้ายทำให้เชื่อได้ประมาณหนึ่งว่า มีตัวตนอยู่จริงบนโลกมนุษย์

2. ด้านการตลาด จากสถิติการใช้สื่อโฆษณาของอเมริกาที่จัดทำขึ้นโดย eMarketer ได้มีการใช้เงินโฆษณา ผ่าน Social network เพิ่มมากขึ้นกว่า 100% จากปี 2006 เทียบกับ ปี 2007 และมีแนวโน้มที่จะใช้มากขึ้นต่อไปในอนาคต เนื่องจาก ชาวอเมริกันใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับอินเตอร์เน็ตมากกว่าทีวี หรือวิทยุ ส่วนในบางประเทศที่ถูกควบคุม และจำกัดในการโฆษณา เช่น ประเทศจีน และสิงคโปร์ ก็ยังมีการใช้ Social network เป็นอีกช่องทางในการโฆษณา ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยัน ความฮอตฮิต และความแรงของการโฆษณาบน Social Network การใช้เงินกับสื่อประเภทนี้ยังคงมีการเติบโตที่สูงมาก ซึ่งจากที่คาดการณ์ตัวเลขของปี 2006 จนถึงปี 2010 จะสูงขึ้นมากกว่า 500% ในประเทศสหรัฐอเมริกา และกว่า 600% ทั่วโลก นี่อาจจะเป็นผลมาจากเครือข่ายที่ขยายวงกว้างมากขึ้น และวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีลูกเล่น ที่น่าสนใจมากขึ้นให้ผู้ใช้ได้คอยติดตามกัน

Social Network ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เว็บไซต์ที่แชร์ข้อมูล รูปภาพอีกต่อไป แต่ได้พัฒนามาเป็นที่แนะนำสินค้า และสถานที่ที่สามารถซื้อหาได้ หรือที่รู้จัก กันในนามของ Collaborative Shopping Communities อีกด้วย สมาชิกสามารถแชร์เกี่ยวกับเทรนด์ที่มาแรง แฟชั่น ร้านค้าที่ฮอตฮิต นี่เป็น อีกหนึ่งโอกาสสำหรับนักการตลาดที่สามารถ รู้ถึง ความสนใจ และความต้องการของผู้บริโภคได้ตรง กลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น Social Network Shopping เว็บไซต์จึงได้กลายมาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองในโลกของ Social Network จากการสำรวจ Global Shopping Insight ของบริษัทวิจัย TNS เมื่อมีนาคม 2008 รายงานว่า Social Network Shopping ดูจะเป็นที่นิยมมากในกลุ่มวัยรุ่นและผู้หญิงเพราะส่วน ใหญ่เป็นเทรนด์แฟชั่น และของสวยๆ งามๆ และหากมาดูยอดใช้บริการ Social Network Shopping ในแต่ละประเทศจีน และสเปน เป็นประเทศที่มีอัตราการใช้บริการและความสนใจที่จะใช้บริการ Social Net work Shopping ค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในไทยก็มีธุรกิจบางธุรกิจก็ได้มีการสร้างเครือข่ายเป็นของตัวเอง อย่างเช่น True ที่สร้าง Minihome หรือ Happyvirus ของดีแทค ซึ่งอาจเป็นอีกช่องทางใหม่ๆ ที่จะใช้เป็นสื่อโฆษณาต่อไปในอนาคต เป็นเครื่องมือทางการตลาดจากเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีข้อมูลของสมาชิกที่จะทำให้สินค้าและการบริการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการตลาดที่วัดผลได้ และมีความคุ้มค่ากับการลงทุน (Return of Investment) รวมถึง Point of Sale ที่มีผลต่อให้ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการซื้อแบรนด์หนึ่งเป็นอีกแบรนด์หนึ่งได้ทันที ณ จุดขาย และเป็นการขายผ่าน e-Marketplace สำหรับผู้ที่ต้องการจะเปิดเว็บไซต์ หรือเปิดหน้าร้านกับ e-Marketplace ทั้งหลาย ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยปัจจุบันมีตลาดหลายแห่งที่เปิดให้บริการอยู่ เช่น Tarad.com, Shopping.co.th, Weloveshopping.com เป็นต้น ซึ่งการขายสินค้าผ่าน e-Marketplace นั้นจะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกก่อน ส่วนการเลือกใช้บริการเว็บไซต์ร้านค้าสำเร็จรูปก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยประหยัดเวลาการสร้างหน้าร้านได้เช่นกัน แม้แต่เว็บดังระดับต้นๆ ของเมืองไทยอย่าง sanook.com และ kapook.com ต่างกระโดดเข้าเล่น Hi5 เต็มตัวและเก็บเกี่ยวผลดีจากยอดคนเข้าเว็บที่เพิ่มขึ้นจากช่องทางใหม่ ในขณะที่ pantip.com ที่เคยเป็นตำนานของเว็บและเว็บบอร์ดเมืองไทยก็เดิมพันอนาคตครั้งใหม่ ด้วยการซุ่มเงียบแล้วเปิดตัว Social Network ของตัวเอง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเว็บไซต์เครือข่ายสังคมจะเป็นช่องทางสร้างโอกาสสำคัญในการเติบโตของโฆษณาออนไลน์ โดยมีจุดแข็ง คือ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เม.ย. 2551

- สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ตามลักษณะของกลุ่มเครือข่ายสังคมที่หลากหลายและซับซ้อน
- เป็นการโฆษณาโดยใช้พลังทางเครือข่ายสังคม ซึ่งเป็นลักษณะการบอกต่อปากต่อปาก (Words of Mouth) โดยจะสร้างความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ผ่านการบอกเล่าของสมาชิกในเครือข่ายสังคม ทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกถูกบังคับให้ต้องรับฟัง
- ผู้ประกอบการสามารถใช้เว็บเครือข่ายสังคมเป็นเครื่องมือการทำ CRM (Customer Relationship Management) ในงานประชาสัมพันธ์ทางการตลาด เนื่องจากจะมีการแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บ ทำให้ผู้ประกอบการรับรู้ Feedback ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน

3. ด้านการเมือง ดังตัวอย่างการใช้สื่อสมัยใหม่ในแข่งขันการเลือกตั้งที่มีส่วนทำให้โอบามาชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 44 ซึ่ง Micah Sifry ผู้ร่วมก่อตั้งบล็อกการเมืองออนไลน์ของสหรัฐฯนาม techpresident.com พูดถึงเรื่องนี้ว่า ทั้งหมดเป็นผลมาจากโอบามามีความเข้าใจเรื่องพลังแห่งเครือข่าย ที่เขาสร้างมาเพื่อสนับสนุนแคมเปญของตัวเอง โดยมองว่า โอบามาเข้าใจเรื่องการดึงพลังขององค์กรอิสระที่จะสามารถสนับสนุนแคมเปญของเขาเองด้วย นอกจากนี้ David Almacy ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมให้บริการอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายในทำเนียบขาวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2005 ถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2007 มองว่า โอบามาเข้าใจแนวคิดการสื่อสารระหว่างชุมชนออนไลน์ตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้โอบามาเน้นการส่งข้อความ Twitter แทนที่จะตรวจหน้า Facebook อย่างเดียวทุกวัน และความเข้าใจพลังเรื่องการสื่อสารระหว่างคนหลายชุมชนนี้เองที่ทำให้โอบามาทำแคมเปญได้ดีกว่าแม้คู่แข่งจะใช้กลยุทธ์หาเสียงออนไลน์เช่นเดียวกัน

ผลกระทบทางลบของบริการ SNS

อย่างไรก็ตาม SNS ก็เป็นบริการออนไลน์ที่ส่งผลต่อชีวิตทางลบมนุษย์ได้เหมือนกัน ดังนี้

1. เสียเวลา บริการ SNS มีมากเกินไป อีกทั้งยังเล่นคล้าย ๆ กัน งานการไม่ต้องทำ จึงเสียเวลาไปกับเรื่องพวกนี้ สุดท้ายไม่รู้จักใครเพิ่มขึ้นเลยสักคน เพราะเป็นความสัมพันธ์เพียงฉาบฉวย ขาดการสื่อสารระหว่างบุคคลแบบเผชิญหน้าที่แท้จริง ไม่ได้ต้องการรู้จักกันจริง บางทีบางคนมาขอแอ๊ด (ใส่) ไว้เฉย ๆ เพราะอยากมีจำนวน"เพื่อน"เพิ่มเยอะๆ ไว้โชว์ สังคมออนไลน์อาจเสื่อมลงได้
2. กำลังตกเป็นเหยื่อ นักการตลาดยุคใหม่เริ่มเห็นอิทธิพลของเครือข่ายทางสังคมแบบนี้ เริ่มพยายามมองว่าจะเข้าแทรกซึมถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างไร ยุทธวิธีอย่าง viral marketing การสร้าง buzz word เริ่มมีให้ได้ยินเยอะขึ้นเรื่อย ๆ บางผลิตภัณฑ์เริ่มทำตัวเนียนแทรกตัวกลมกลืนไปใน SNS ต่างๆ อย่างใน Hi5 ที่มีคนไทยอยู่นับล้าน เรียกได้ว่าพลังปากต่อปากของคนบนเน็ตแรงและเร็วเลยทีเดียว
3. ไม่มีประโยชน์ จากการต้องทำอะไรเดิม ๆ ซ้ำหลาย ๆ ครั้ง แม้ความสวยงามของ SNS คือการเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน แต่ลิงค์เหล่านั้นไม่มีความหมายอะไรอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น มันไม่มีเหตุมีผล และไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมคนนี้ถึงเชื่อมต่อกับคนคนนั้น ทำไมไม่เป็นคนอื่นหละ

ลองนึกภาพทุกวันนี้ มีกลุ่มทางสังคมที่ซับซ้อนมากแค่ไหน เพราะมีทั้งกลุ่มเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท เพื่อนสมัยมัธยมปลาย เพื่อนประถม เพื่อนที่ทำงานเก่า เพื่อนแฟน เพื่อนแฟนเก่า เพื่อนกิ๊ก เพื่อนเล่นเอ็ม เพื่อนเล่นเกมออนไลน์ ญาติพี่น้อง ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตามWeb 3.0 หรือ Semantic Web อาจจะเป็นคำตอบให้กับปัญหานี้ เพราะ Semantic web มีกระบวนการในการเชื่อมโยงผู้คนและวัตถุต่างๆ เข้าด้วยกันโดยมีการระบุความหมายระหว่างลิงค์นั้นๆ ในอนาคตจากการค้นเข้าไปใน SNS อาจจะหาได้ว่า นักศึกษาอเมริกันคนไหนที่พูดภาษาไทยได้และมีความสัมพันธ์เป็นญาติหรือเป็นเพื่อนสนิทกับคนที่เรารู้จัก โดยที่ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยแถบซิลิคอนวัลเลย์ มีงานดิเรก มีความสนใจคล้ายๆ กัน และที่สำคัญมีเวลาว่างในช่วงที่จะบินไปสัมมนาในซานฟรานซิสโก จะได้ส่ง message ไปนัดเจอกันเพื่อคุยแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับงานวิจัยที่ทำอยู่

สรุป

เทคโนยีสมัยใหม่เหมือนเหรียญ 2 ด้าน หรือดาบ 2 คม มีทั้งประโยชน์และเป็นช่องทางของผู้แสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้ SNS แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้น คือ การใช้แนวทางจริยธรรม ที่ผู้ให้บริการและผู้ใช้จะต้องระมัดระวังไม่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่นและก็ตั้งใจที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์อยู่เสมอ ผู้ใช้ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง คือ ไม่ลุ่มหลงต่อกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งมากเกินไป ควรสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมชุมชน เช่น การติดตั้งระบบเพื่อกลั่นกรองข้อมูลที่ไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน การให้ความรู้เรื่องภัยอันตรายจากอินเตอร์เน็ต แนวทางการเข้าสู่มาตรฐานการบริการจัดการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น มีการกำหนดเรื่องความมั่นคงปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมขององค์กร การควบคุมการเข้าถึง และใช้แนวทางบังคับใช้ด้วยกฎหมาย ?

เอกสารอ้างอิง

ปิยะพงษ์ ป้องภัย. Positioning Magazine (มีนาคม 2551).
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. เม.ย. 2551 อ้างถึงใน Positioning Magazie.Sunday, November 9, 2008.
Attawee J.http://www.pccompete.com/blog/
http://jeffreyroos.wordpress.com/2007/11/02/what-is-a-social-network
http://gotoknow.org/blog/think/176946
http://www.marketingoops.com/news/online-biz-news


ที่มา : http://ngnforum.ntc.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=76&Itemid=48

อ่านต่อที่นี่...