ถ้าพูดถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์สุดฮิตในบ้านเราคงหนีไม่พ้น Hi5 (ที่ใครบางคนอาจเรียกมันว่า ฮิห้า) ที่รองๆ ลงไปก็อย่าง Facebook หรือ MySpace


พื้นที่เหล่านี้อำนวยให้ผู้ใช้สามารถแสดงความเป็นตัวเอง ได้อย่างเสรี ทั้งประวัติส่วนตัวอย่าง วันเกิด ที่อยู่ ที่ทำงาน เมล์ติดต่อ กระทั่งความสนใจ รูปถ่าย วีดีโอ รวมไปถึงเพื่อนฝูง คนรอบกายของเรา จุดขายของเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ ก็คือ การติดต่อเชื่อมโยงที่ไร้พรมแดน ไม่ว่าจะค้นหาเพื่อนเก่า หรือพบปะเพื่อนใหม่ อัพเดตข่าวสารระหว่างกัน ล้วนสะดวกดาย

แต่จุดขายก็กลายมาเป็นจุดอ่อน เมื่อสังคมออนไลน์นั้นเปิดกว้าง ทั้งสำหรับคนดี และคนไม่ดี ที่มักจ้องแต่จะหาประโยชน์ใส่ตัว โดยสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น วันดีคืนดี เราอาจพบว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรืออาจกลายเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพไปซะแล้วก็เป็นได้ กรณีตัวอย่างมีเยอะแยะมากมาย และไร้พรมแดนสมคำโฆษณา ทั้งการเอารูปเราไปตัดต่อเพื่อข่มขู่เรียกเงิน หรืออย่างอื่น... หรือซับซ้อนกว่านั้นแบบการจารกรรมข้อมูลส่วนตัว แล้วหลอกลวงให้เราเปิดเผยข้อมูล เอาไปสมัครบัตรเครดิตหรือยื่นขอสินเชื่อในชื่อของเรา

และอีกกรณีศึกษาที่ CNN เขาเอามาเปิดเผย เป็นเรื่องราวของผู้ใช้ Facebook (ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศมากกว่าบ้านเรา) ถูกมือดี แฮกบัญชีของเขาเข้าไปเปลี่ยนสถานะ (Status – ที่คนใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเราจะรู้กันดีว่า เพื่อนๆ ในบัญชีของเราจะต้องสังเกตเห็นแน่นอน) มันจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลยถ้ามันเป็นข้อความประมาณ “ขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้เรามาเจอกัน” แต่ที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาก็เพราะว่ามันกลายเป็น “แย่แล้ว ผมต้องการความช่วยเหลือด่วน” แบบนี้เพื่อนเราเห็นเข้า ไม่ว่าใครก็อดไม่ได้ต้องเข้ามาทักทาย ถามไถ่ใช่มั๊ย นี่ล่ะที่จะเป็นช่องทางให้พวกมิจฉาชีพที่คอยจังหวะอยู่แล้ว ปั้นเรื่องโกหกถึงความเดือนร้อนของเราขึ้นมา และขอความช่วยเหลือจากเพื่อนผู้รู้ไม่เท่าทันของเรา ซึ่งมักเป็นเงินนั่นแหละที่ถูกขอให้โอนผ่านบัญชี เป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ใครหลงเชื่อ โดยไม่ตรวจสอบก็็....เสร็จโจร

เราอาจจะเห็นว่าไอ่หมอนี่มันโง่เนอะ ไปโอนให้ง่ายๆ ได้ไง แต่ในมุมกลับ อย่าลืมว่าความประมาทในกรณีแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าคุณเชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่าระบบนั้นมีความปลอดภัยสูง คงไม่คิดระแวงเพื่อนเราอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ข่าวนี้จึงทำให้คนเล่น Facebook รวมถึงผู้ใช้บริการสังคมออนไลน์อื่นๆ ตื่นตัวและตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวได้เป็นอย่างดี ก็อยากเตือนสติชาวไซเบอร์ในบ้านไว้ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะน้องๆ เยาวชน ที่บางคนถึงขนาดติดงอมแงม เปิดคอมได้เมื่อไหร่ก็อัพเดตกันเมื่อนั้น ไม่ได้ห้ามไม่ให้เล่น แต่อยากให้รู้เท่าทันพวกนักต้มตุ๋น มิจฉาชีพพวกนี้ เรื่องแบบนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครคงไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีแน่

ทีนี้เรามาดูกันว่า พอจะมีวิธีอะไรที่ทำให้เราออนไลน์ได้แบบปลอดภัยขึ้นอีกนิด เจ้าหน้าที่ของ Facebook บอกว่า

- หากมีการขอเงินผ่านทางอินเตอร์เน็ต ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นเพื่อเราหรือไม่ก็ตาม ให้ตรวจสอบข้อมูลก่อน โทรไปคุยกับเจ้าตัวเลยถ้าอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ในเวลานั้น หรือไม่ก็โทรไปเช็คกับเพื่อนๆ ที่รู้จักกันดู
- ให้เราตั้งรหัสผ่านที่สามารถเดาได้ยาก และไม่ใช้รหัสผ่านซ้ำกันในแต่ละชื่อบัญชี เพราะเมื่อพวกแฮกเกอร์แฮกเข้าบัญชีของเราได้อันนึง เขาจะใช้รหัสผ่านนั้นแหละไปลองดูกับชื่อบัญชีอื่นๆ ของเรา
- ใช้เวบเบราว์เซอร์ที่อัพเดตล่าสุด ที่มีเทคโนโลยีช่วยป้องกันพวกไม่ประสงค์ดีที่ส่งข้อความทางเมล์ เพื่อการโจรกรรมข้อมูล
- ใช้โปรแกรมต้านไวรัสและทำการอัพเดตอยู่เสมอ
- ตั้งรหัสผ่านใหม่ถ้าเราสงสัยว่ากำลังถูกแฮก
- สมัครอีเมล์มากกว่าหนึ่งชื่อบัญชี

เพิ่มเติมด้วยคำแนะนำจากเวบไซต์ BBC

- ให้หมั่นตรวจสอบข้อมูลสินเชื่อ และใบแจ้งรายการของธนาคารอย่างสม่ำเสมอ
- รีบอายัดบัตรสำคัญต่าง ๆ ทันทีที่หายหรือถูกขโมย
- ทำลายเอกสารที่ไม่ใช่แล้วให้ละเอียด
- ไม่เปิดเผยรายละเอียดบัญชีธนาคารให้แก่คนแปลกหน้า
- ศึกษาระเบียบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ของเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เข้าใจ

ถึงแม้โอกาสที่จะเกิดขึ้นกับเราจะมีน้อย แต่ภาษิตที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ยังใช้ได้ดีเสมอ จริงมั๊ย

ขอบคุณ: CNN.com, Blog Thai Salesian Sister


ที่มา : http://information.phuketindex.com/technology/it/138-social-network.html

0 ความคิดเห็น: